Home
About Us
      - Mission
        - History
        - Staff
        - Opening Time

Service
Materials
Download
Archives
Contact Us
Facebook



      ประวัติและความเป็นมา   

        

สถาบันภาษา จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของมหาวิยาลัยที่จะรวบรวมทรัพยาการและผนึกกำลังทางวิชาการเพื่อให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ โดยเริ่มตั้งเป็นศูนย์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 2 พฤษาคม 2518      ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Language Institute หรือ CULI) ตามประกาศของคณะปฏิวัติ โดยรับโอนศูนย์ภาษาอังกฤษ (Central Institute of the Language หรือ CIEL) ในสำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัย มาเป็นของสถาบันภาษาด้วย
                 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ทรงหระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฏีกาจัดตั้ง สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน สถาบันภาษาได้จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั้งในหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ/ภาษาอังกฤษแก่นิสิตทุกระดับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวคือในระดับปริญญาบัณฑิต สถาบันภาษาให้บริการการสอนภาษาขั้นพื้นฐาน (คือรายวิชาภาษาอังกฤษเพ่อการเรียนรู้ในชีวิตจริง) ภาษาอังกฤษสำหรับสาขาวิชา ภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพ และภาษาอังกฤษวิชาเลือกนอกจากนี้สถาบันภาษายังให้บริการการสอนภาษาอังกฤษระดับบัณฑิตศึกษาด้วย สถาบันภาษามีศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อสนองนโยบายมหาวิทยาลัยที่จะส่งเสริมให้นิสิตมีเจตคติและประสบการณ์ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ตลอดจนมีความใฝ่รู้ และสนใจแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา นอกจากนี้สถาบันภาษายังให้บริการวิชาการแก่สังคม เช่น สอนภาษาอังกฤษแบบเข้ม ภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ และแบบซ่อมเสริมให้แก่ข้าราชการและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ครูผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับต่างๆ บุคคลภายนอก หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนอกจากนี้ยังให้บริการสร้างแบบทดสอบภาษาอังกฤษ บริการจัดทำสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ และบริการแปล

                สถาบันภาษา มีพันธกิจหลักคือการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่คณะต่างๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  การวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการบริการวิชาการและเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่วิชาการ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เสริม คือการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในด้านการเรียนการสอน สถาบันภาษา ให้บริการแก่คณะต่างๆทุกระดับการศึกษาทั้งในหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ ยกเว้นคณะอักษรศาสตร์ ในปัจจุบันสถาบันภาษารับผิดชอบสอนนิสิตจำนวนประมาณ 10,000 คน/ภาคการศึกษา และรายวิชาต่างๆประมาณ 100 รายวิชา สถาบันภาษาให้บริการวิชาการแก่สังคมในรูปแบบการฝึกอบรมด้านทักษะการใช้ภาษาและวิธีการสอนภาษา(Teaching methodology) ในรูปแบบของการแปล และการจัดทำแบบทดสอบคุณภาพ นอกจากนี้สถาบันภาษายังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ โดยการจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ National Seminar และ Post RELC Seminar และจัดประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference) ทุกๆ 4 ปี และสัมมนาด้านวิจัยระดับนานาชาติ (International Research Conference) ทุกๆปีในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ นอกจากการจัดสัมมนาแล้งสถาบันยังผลิตวารสารภาษาปริทัศน์ วารสาร PASAA และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ e-Journal for Researching Teachers

และเนื่องด้วยวัตถุประสงค์และนโยบายในการพัฒนาการศึกษาของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) ในส่วนที่เกี่ยวกับอุดมศึกษานั้น รัฐได้กำหนดไว้ว่า เพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น จะต้อง “ปรับปรุงหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องทันแก่การเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตลอดจนให้มีความสมดุลระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ” และ “จัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยและปรับปรุงระบบสารสนเทศและห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อจัดการศึกษาและการวิจัยอย่างพอเพียง” (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2530)

อีกทั้งขณะนั้นเอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีแนวคิดร่วมกันที่ว่าการที่จะทำให้บัณฑิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้นนั้น การเรียนการสอนควรจะต้องเปลี่ยนจากแนวคิดเดิมที่ว่ามหาวิทยาลัยเป็น “สำนักคัมภีร์” (College of Dogma) ที่เชื่อว่ามีความรู้อยู่เป็นมวล ส่วนใหญ่ในรูปคัมภีร์ ซึ่งระยะหลังคือ ตำรา มีการยึดมั่นถือว่า คัมภีร์หรือตำรา เป็นความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อได้ มาเป็นแนวคิดใหม่ว่า มหาวิทยาลัยเป็น “แหล่งค้นคว้าวิจัย” (College of Inquiry) ที่อาจารย์และนิสิตจะต้องบุกเบิกแสวงหาวิชาการใหม่ๆ หมายถึง เป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะใช้วิจารณญาณใคร่ครวญถึงความถูกต้องเชื่อถือได้ของความรู้ มีความรู้เท่าทันความรู้ สามารถปรับเปลี่ยนความรู้ได้ตลอดเวลา รู้กระบวนการหาความรู้ กระบวนการแยกของจริงออกจากของเท็จ ไม่เชื่อง่าย ต้องพิจารณาดูข้อมูลและให้เหตุผลตลอดจนทำการพิสูจน์จึงจะเชื่อ(จรัส สุวรรณเวลา, 2530) ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมุ่งมั่นที่จะให้มี “แหล่งทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ เช่น ห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ฯ” ซึ่งเป็น “แนวปฏิบัติที่ต้องเร่งดำเนินการ” (Montien Declaration, 2530) ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเพื่อแสวงหาความจริงและถ่ายทอดความจริงที่ผู้รู้ค้นพบ เป็นแหล่งที่สนองความต้องการของสังคมในการแก้ปัญหาต่างๆและเป็นแหล่งเพื่อทำให้คนเป็นคนที่สมบรูณ์ (วิทย์ วิศทเวทย์, 2530)

ในส่วนของสถาบันภาษามีปณิธานที่จะ “จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับความต้องการของมหาวิทยาลัยและสังคม เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับนิสิตในการเสาะแสวงหายความรู้ และเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ เป็นแหล่งพัฒนาและเผยแพร่วิชาการด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ.รวมทั้งทำการวิจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนการสอน โดยมุ่งหวังจะดำรงความเป็นเลิศทางวิชาการ” (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันภาษา, 2531)

ดังนั้นเพื่อให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และนโยบายในการพัฒนาการศึกษาของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติในขณะนั้น จึงมีแนวปฏิบัติที่ต้องเร่งดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปณิธานของ สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สถาบันภาษาจึงเสนอจัดตั้งโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง สถาบันภาษา (CULI Self Access Learning Center) ไปยังมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

วัตถุประสงค์หลัก

1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตระดับปริญญาตรีของตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสได้ศึกษาและค้นคว้าด้วยตนเอง อย่างกว้างขวางในการเรียนลักษณะต่างๆ ทางภาษานอกเหนือจากการเรียนตามปกติรวมทั้งสามารถประเมินความก้าวหน้าของตนเองได้ด้วย

2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตระดับปริญญาตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เข้ามาเรียนจากโครงการพิเศษต่างๆ และผู้ที่ได้รับการยกเว้นการเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐาน 1 รวมทั้งผู้ที่ได้เรียนรายวิชาภาษาอังกฤษบังคับพื้นฐานแล้วมีโอกาสได้มาศึกษา และค้นคว้าด้วยตนเองเพิ่มเติมได้อย่างกว้างขวางในการฝึกฝนทักษะต่างๆ ทางภาษาให้มีความก้าวหน้าอยู่เสมอตามความสามารถของตนเองด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

3. เพื่อเป็นแหล่งวิทยาการให้นิสิตระดับปริญญาตรีของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี (เรียนเก่ง) และผู้ที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษยังไม่ดี (เรียนอ่อน) มีโอกาสได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะต่างๆ ทางภาษาอังกฤษของตนอย่างสม่ำเสมอตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน เพื่อให้มีความสามารถดียิ่งขึ้น

4. เพื่อส่งเสริมให้นิสิตระดับปริญญาตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมประเพณีของต่างชาติและสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ชาวต่างชาติรู้ได้ด้วย

5. เพื่อเป็นแหล่งวิทยาการให้นิสิตระดับปริญญาตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาความรู้ความสามารถในการทักษะต่างๆทางภาษาได้อย่างกว้างขวางและถูกต้องเพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตในสังคมการทำงานหรือศึกษาต่อได้อย่างภาคภูมิ

6. เพื่อกระตุ้นให้นิสิตระดับปริญญาตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความสนใจและมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น

              วัตถุประสงค์รอง

1. เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาและฝึกฝนทักษะทางภาษาอังกฤษทั้งการอ่าน การเขียน การพูดและการฟังเพิ่มด้วยตนเองตามความถนัดและความสนใจของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สำหรับนิสิต อาจารย์ บุคลากร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

              มหาวิทยาลัยเห็นชอบด้วยในหลักการ และสถาบันภาษาได้เสนอใช้ห้อง 207 อาคารเปรมบุรฉัตร เป็นที่ตั้งสถานทำการของศูนย์ดังกล่าว ซึ่งได้เริ่มดำเนินการให้บริการได้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา
                การเรียนการสอนภาษาเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาก็ต่างพยายามคิดค้นวิธีสอน(Approaches) แบบต่างๆขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่มีวิธีใดใช้ได้ดีเสมอไป หน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการสอนภาษาก็คือ การพยายามหาวิธีการตลอดจนสิ่งเร้าต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้ อยากเรียน และเพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีประสบการณ์น้อย หรือผู้ที่มีระดับสติปัญญาด้อยกว่า สามารถเรียนรู้ภาษาได้เช่นเดียวกับผู้อื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ได้เรียนรู้ได้มายกกว่าวิธีการเรียนธรรมดาๆ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้สอนทำเช่นนี้ได้  ก็ได้แก่การนำเอาเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งหมายถึง การสร้าง การใช้ และการประเมินผล ระบบ วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  ที่ได้รับการวิจัยหรือทดสอบแล้วมรคุณค่าทั้งหลายมาใช้ในการสอน (ผ่าน บาลโพธิ์, 2525)
                เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่ต้องจัดหาและนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นไปตามลักษณะการศึกษาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะต้องประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานด้านช่องทางและสื่อ  ดังต่อไปนี้
               1.  เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคม (E-communication) ที่สำคัญได้แก่ การสื่อสารผ่านดาวเทียม เครือข่ายกระจายสารโลก เครือข่ายเส้นใยนำแสง เครือข่ายคอมพิวเตอร์
               2.  ระบบการสอนผ่านจอภาพ (On - Screen Interactive Instruction) ที่สำคัญได้แก่ การสอนด้วยคอมพิวเตอร์ การสอนด้วยโทรทัศน์ปฏิสัมพันธ์ การสอนด้วยการประชุมทางไกล การสอนด้วยเครือข่ายโลก
               3.  ระบบสื่อตามต้องการ (Media On Demand) เช่น สัญญาณภาพตามต้องการ เสียงตามต้องการ บทเรียนตามต้องการ เป็นต้น
               4.  ระบบฐานความรู้ (Knowledge-Based System)  เป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดมาจากระบบฐานข้อมูล ซึ่งรวบรวมและจัดเรียงเนื้อหาข้อมูลตามลำดับที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวโดยใช้คำไข (Key  word) เป็นตัวค้นและตัวเรียกข้อมูล ส่วนฐานความรู้จะจัดข้อมูลไว้หลากหลาย เช่น ตามประเภทของหลักสูตร ตามกลุ่มอายุของผู้ใช้ ตามประเภทของวัตถุประสงค์ของการใช้ เป็นต้น การทำงานของฐานความรู้จะต้องทำงานประสานกันอย่างน้อย 3 ระบบได้แก่ ระบบสื่อสาร  ระบบสารสนเทศ  และระบบเหตุผล  เพื่อให้สามารถค้นและเรียกข้อมูล/ความรู้ที่ตรงกับอายุ  ความต้องการ วัตถุประสงค์ของการใช้และปัญหาของผู้เรียกใช้  (ชุดฝึกอบรมครู : ประมวลสาระ, บทที่ 8, เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้, 2546 )

                แนวความคิดที่มาของศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง สถาบันภาษา คือรวบรวมวัสดุอุปกรณ์และหน่วยงานที่มีอยู่เดิมเช่น ห้องสมุด และหน่วยโสตทัศนศึกษา มารวมไว้ในที่เดียวกัน และเพิ่มขยายอุปกรณ์การให้ปริการอื่นๆออกไปอีก (มาลินี จันทวิมล)  ภายในศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองจะมีหนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสาร โปรแกรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แผ่นบันทึกเสียงและภาพยนตร์ และบทเรียนเสริมที่อาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษพื้นฐานสร้างขึ้นมาว่า Learning Materials ซึ่งนิสิตจะต้องทำกิจกรรมตามที่อาจารย์ผู้สอนประจำวิชามอบหมาย เช่น ค้นคว้าอ่านบทเรียนเสริม ดูแผ่นวีดิทัศน์ ฟังแผ่นบันทึกเสียง ทำแบบฝึกหัดและตรวจคำตอบเอง  เสร็จแล้วบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนในแฟ้มประจำตัวนิสิต (ปรียา ธีระวงศ์, 2533) โดยในปัจจุบัน หากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเก็บชั่วโมงการเข้ามาพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้เกิน 50 ชั่วโมง ต่อหนึ่งภาคการศึกษา ทางศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองจะมอบ Certificate of Attendance เพื่อเป็นหลักฐานในความมุ่งมานะและตั้งใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองของนิสิต

                แผนการพัฒนาวิชาการของสถาบันภาษา ในด้านหลักสูตร มุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษพื้นฐาน และวิชาชีพ และสามารถนำความรู้ดังกล่าวเสาะแสวงหาความรู้ต่อไปได้    ในด้านวิธีการเรียนการสอน  มุ่งหวังที่จะพัฒนาการเรียนการสอนภาษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม  จัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้นิสิตเป็นผู้ที่ใฝ่รู้และสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการแสวงหาความรู้ต่อไปตรงการกับการเรียนรู้ตลอดชีพ   ในด้านการพัฒนาบุคลากร มุ่งเน้นส่งเสริมให้อาจารย์สร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสม และนวัตกรรมทางการศึกษามาช่วยในการเรียนการสอนภาษา และสร้างบรรยากาศให้อาจารย์และนิสิตมีการทำกิจกรรมทางภาษาร่วมกัน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น (Basic Infrastructure) ที่สำคัญประการหนึ่ง ตามแผนพัฒนาวิขาการของสถาบันภาษา ก็คือ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Access Learning Center)

 

ศูนย์วิทยภัณฑ์

(CULI Resource Center)

          ศูนย์วิทยภัณฑ์ สถาบันภาษา หรือ CULI Resource Center คือ ศูนย์การเรียนที่เปิดโอกาสให้นิสิตสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สื่อและอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม และประการสำคัญ เพื่อฝึกให้นิสิตเป็นผู้ใฝ่รู้และสามารถศึกษาหาความรู้ได้ ตามระดับความสามารถของตน

          “เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ทางสถาบันภาษาจึงได้พยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้นิสิตได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษได้ตามความสนใจ และตามระดับความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้กระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นแบบสืบสอบ (inquiry method) ที่ทั้งอาจารย์และนิสิตจะต้องแสวงหาความรู้ใหม่ตลอดเวลา” รองศาสตราจารย์มาลินี จันทวิมล ผู้อำนวยการสถาบันภาษา เปิดเผยถึงหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งศูนย์วิทยภัณฑ์

          ศูนย์วิทยภัณฑ์ สถาบันภาษา เริ่มเปิดทำการครั้งแรกเมื่อปี 2533 โดยมีวัตถุประสงค์หลักประการแรก เพื่อส่งเสริมให้นิสิตได้มีโอกาสพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วยตนเองจากการปกติในห้องเรียน โดยใช้สื่อและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพประการที่สอง เพื่อกระตุ้นให้นิสิตมีความสนใจ มีแรงจูงใจและมีเจตคติที่ดีในการเรียนภาษาอังกฤษและประการสุดท้าย เพื่อส่งเสริมให้นิสิตมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรรายวิชาภาษาอังกฤษ

          ภายในเนื้อที่ 216 ตารางเมตรของศูนย์วิทยภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้อง 207 อาคารเปรมบุรฉัตร จะประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์การเรียนด้วยตนเองต่างๆ เช่น แบบฝึกหัดภาษาอังกฤษเชื่อมโยงกับหลักสูตร (Learning materials) ที่นิสิตจะเลือกทำตามระดับความสามารถของตน นอกจากนั้นนิสิตอาจจะพัฒนาทักษะทางภาษาเพิ่มเติมโดยใช้สื่อและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ แถบภาพ แถบเสียง เกมทางภาษา นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ นวนิยาย และเรื่องสั้น รองศาสตราจารย์มาลินี กล่าวว่า “เราต้องการให้นิสิตได้มีโอกาสสัมผัสกับภาษาอังกฤษที่ใช้กันจริงๆ ในชีวิตประจำวัน นิสิตจะได้มีโอกาสได้ฝึกการเรียนรู้ภาษาด้วยคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Computer Assisted Language Learning (CALL) ฝึกทักษะการออกเสียงจากเทปประกอบการเรียนด้วยตนเอง ฝึกทักษะการฟัง และความเข้าใจจากบทเรียนประกอบสื่อแถบภาพ รวมทั้งการฟังข่าวเพื่อให้ก้าวทันโลกและนอกจากนี้นิสิตยังสามารถเพิ่มพูนความรู้ด้านคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้จากบอร์ด “ภาษาอังกฤษวันละคำ

          ตามเป้าหมายเดิม “ศูนย์วิทยภัณฑ์ สถาบันภาษามุ่งหวังที่จะให้เป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการ และแหล่งฝึกฝนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนิสิต อาจารย์ บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดจนบุคคลภายนอกทั่วไป แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ในระยะแรกนี้จึงให้นิสิตคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งลงทะเบียนเรียนรายวิชาภาษาอังกกฤษพื้นฐาน 1 และ 2 มาใช้บริการห้องศูนย์วิทยภัณฑ์ก่อน” ผู้อำนวยการสถาบันภาษากล่าว
          การใช้บริการในศูนย์วิทยภัณฑ์นั้น อาจารย์ประจำกลุ่มจะจัดนิสิตออกเป็น 3 ระดับตามความสามารถ โดยพิจารณาจากระดับคะแนนในรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน จากนั้นเมื่อนิสิตเรียนบทเรียนหลักในชั้นเรียนปกติจบ 1 บทแล้ว นิสิตจะได้รับมอบหมายให้มาทำแบบฝึกหัด และกิจกรรมในศูนย์วิทยภัณฑ์ ซึ่งจะถือเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนเก็บรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน 1 และ 2 เมื่อทำเสร็จนิสิตสามารถตรวจคำตอบด้วยตนเองจากเฉลยที่จัดไว้ให้ และถ้ามีปัญหาก็สามารถขอคำแนะนำ หรือคำอธิบายจากอาจารย์ทั้งไทย และต่างประเทศที่ประจำอยู่ในศูนย์ได้ตลอดเวลา
          จากผลการสำรวจการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า นิสิตส่วนใหญ่ชอบวิธีการเรียน และประเมินด้วยตนเอง และมีความเห็นว่า การเรียนรู้ด้วยตนเองช่วยให้นิสิตเกิดความมั่นใจและสนใจที่จะใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น นายสรชาติ โภชนสมบูรณ์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่า “การเข้า Resource Center มีประโยชน์มากครับ ทำให้มีการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้พัฒนาภาษาให้ดีขึ้น แต่สำหรับคนที่ขี้เกียจจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่ได้ทำด้วยตนเอง เอาแต่ลอก เสียเวลาโดยใช่เหตุ”
          นางสาวพิชญา นาคเขียว และนางสาวศรินยา อุ่ยยะเสถียร นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การมาใช้บริการของศูนย์วิทยภัณฑ์ช่วยฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ในการใช้ภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นการเขียน การอ่าน หรือการฟัง นอกจากนั้นยังช่วยทำให้เข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น “การมี Resource Center ทำให้ได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ฟังเทป ดูวิดีโอ และฝึกการเขียน ทำให้ตอนสอบไม่ต้องดูหนีงสืออีกมากนัก เพราะเราทำแบบฝึกหัดมาบ่อย ๆ แล้ว” นางสาวศรินยากล่าว
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรียา หัวหน้าโครงการศูนย์วิทยภัณฑ์ ได้กล่าวถึงปัญหาการดำเนินงานที่ผ่านว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสถานที่ “เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด จึงสามารถรับรองนิสิตได้เพียงคราวละ 100 คน เท่านั้น ยิ่งในช่วงใหล้สอบจะมีนิสิตมาใช้พร้อมๆ กัน เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องรอคิวใช้บริการต่าง ๆ เป็นเวลานาน”

          ศูนย์วิทยภัณฑ์นี้เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. โดยไม่การหยุดพักเที่ยง อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้คงจะลดลงเมื่อทางสถาบันภาษาขยายพื้นที่ของศูนย์วิทยภัณฑ์ออกไปได้เสร็จสิ้นตามโครงการและคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการแก่นิสิตชั้นปีที่ 1 ทุกคณะได้ในภาคต้นของปีการศึกษา 2535

          “เราอยากขอความร่วมมือจากคณะต่างๆ ให้เปิด Resource Center ขึ้นตามคณะหรือกลุ่มคณะ โดยทางสถาบันภาษาจะให้ความสนับสนุนด้านแบบฝึกหัดและบทเรียนต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้นิสิตตลอดจนบุคลากรของคณะนั้นๆ ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในการฝึกฝนหรือฟื้นฟูทักษะทางภาษาอังกฤษด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่” ผู้อำนวยการสถาบันภาษากล่าว “ขณะนี้คณะพาณิชศาสตร์ และการบัญชีและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและเตรียมการเปิดศูนย์วิทยภัณฑ์ของคณะขึ้น”

          “ความสำเร็จของศูนย์วิทยภัณฑ์นี้เป็นผลมาจากความร่วมมืออย่างเต็มที่ของบุคลากรทุกฝ่ายของสถาบันภาษา ซึ่งมุ่งหวังจะให้ศูนย์แห่งนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่ นิสิต และบุคคลทั่วไป อันจะเป็นการรับใช้สังคมทางหนึ่งตามปณิธานของสถาบันภาษาและมหาวิทยาลัย” รองศาสตราจารย์มาลินี จันทวิมล ผู้อำนวยการสถาบันภาษากล่าวในที่สุด

 

                                                การสัมภาษณ์

                                                                             จุฬาสัมพันธ์ ฉบับที่ 11

                                                วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2534

________________________________________________________________________________________________________
Copyright 2016, Self-Access Learning Center, Chulalongkorn University Language Institute